วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

สมบัติ จากข่าวสด

สมบัติ
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร watdevaraj@hotmail.com
สมบัติ คือ ความสมบูรณ์แห่งผลสำเร็จที่ให้ได้สมความปรารถนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ

1. มนุษย์สมบัติ

2. สวรรค์สมบัติ

3. นิพพานสมบัติ

ประการที่ 1 มนุษย์สมบัติ ได้แก่ การมีทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ การยกย่องและความสุขกายสบายใจ คนผู้ที่จะได้มนุษย์สมบัตินี้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในคุณธรรม 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ หมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิต ในการศึกษาเล่าเรียน ในธุระหน้าที่การงานของตนเอง 2. ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความหมั่น พยายามไม่ให้เป็นอันตราย อีกทั้งรักษาการงานที่ได้ทำไว้ไม่ให้เสื่อมเสียไป 3. ความมีเพื่อนเป็นคนดี คือ การรู้จักคบคนดีเป็นเพื่อน เลือกคบหา เสวนากับคนที่สามารถแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควรได้ 4. ความเลี้ยงชีวิตตามสมควร คือ รู้จักเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคือง ไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป

มีเรื่องเล่าในอดีตเป็นตัวอย่างว่า คนรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่ง ทำการค้าขายครั้งแรกด้วยการลงทุนด้วยหนูตายเพียงตัวเดียว ได้ทรัพย์สินเงินทองมากมาย คือ ครั้งแรก เขาขายหนูตายนั้นแล้วได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จึงนำเงินนั้นไปซื้อดอกไม้มาขาย นำกำไรที่ขายดอกไม้ได้ไปซื้อไม้แล้วนำไปขายให้กับคนเผาภาชนะดิน นำผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้นอีก ไปซื้อหญ้าแล้วนำไปขายให้คนเลี้ยงม้า ได้เงินมาแล้วก็นำไปเก็บรักษาไว้ ต่อมาได้ทำการค้าขายทางเรือกับพวกพ่อค้า ได้เงินทองมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาระลึกถึงเศรษฐีที่เคยมีอุปการะแก่ตนมาก่อน ด้วยความกตัญญู จึงนำทรัพย์สินเงินทองครึ่งหนึ่งที่ตนหามาได้มอบให้แก่เศรษฐี ท่านเศรษฐีคิดว่า คนที่ฉลาด ขยันหมั่นเพียรเช่นนี้ ไม่สมควรที่จะเป็นคนรับใช้ของเรา จึงได้ยกธิดาคนหนึ่งให้และมอบเงินทองให้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว เขาก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐีต่อไป

ประการ ที่ 2 สวรรค์สมบัติ ได้แก่ สมบัติในสวรรค์ หรือทิพยสมบัติ คือ สมบัติที่มีความสุขกายสบายใจ อันละเอียด ประณีต วิจิตรตระการตากว่ามนุษย์สมบัติมากมาย ซึ่งผู้ที่จะประสบสวรรค์สมบัติได้นั้น จะต้องประกอบด้วยความไม่ประมาทในคุณธรรม 4 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2. ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย

3. ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน คือ การเสียสละแบ่งปัน

4. ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักความดี ความชั่ว เป็นต้น

มีเรื่องเล่าเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งว่า อุบาสกคนหนึ่ง ชื่อว่านันทิยะ เป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ได้ให้ทาน รักษาศีล และทำอุโบสถกรรมเป็นประจำ ต่อมาได้สร้างศาลาจัตุรมุขขึ้นหลังหนึ่ง ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งในที่สุดแห่งการทำอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า วิมานจัตุรมุขก็ได้ผุดขึ้นในเทวโลกเพื่อต้อนรับอุบาสกนั้น พระมหาโมคคัลลานะได้ไปเยี่ยมเทวโลก เห็นวิมานนั้นว่างเปล่า ไม่มีเทพบุตรหรือเทพธิดาประจำอยู่ จึงไต่ถามกับเทพบุตรในวิมานใกล้เคียงก็ทราบว่า เป็นวิมานที่ผุดขึ้นเพื่อต้อนรับนันทิยอุบาสก ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ พระมหาโมคคัลลานะจึงนำข่าวมาแจ้งแก่นันทิยอุบาสก เมื่อเขาได้ฟังแล้วก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างมาก ได้สละทรัพย์บำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนาอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเขาสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในวิมานนั้น

ประการที่ 3 นิพพานสมบัติ ได้แก่ สมบัติคือพระนิพพาน คือการดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง คนผู้ถึงพระนิพพาน ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอีกต่อไป เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยม ไม่มีความสุขอื่นยิ่งไปกว่า สมตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง" ซึ่งแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพานนั้น ก็ได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ คือ

1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญจิตตภาวนา

ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาสมบัติ คือ ความถึงพร้อมทั้ง 3 ประการนี้ ควรที่ปฏิบัติตน ประพฤติตามหลักธรรมดังที่กล่าวมา อันจักทำให้ได้รับสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง สมตามความปรารถนาแล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น